ผลงานทัศนศิลป์สมัยอยุธยา


                  แบบอย่างงานทัศนศิลป์สมัยอยุธยาเจริญขึ้นทางภาคกลางของประเทศไทย มีช่วงเวลาวิวัฒนาการนานถึง 417 ปี แนวคิดและเนื้อหาของผลงานทัศนศิลป์ส่วนใหญ่จะยังคงสะท้อนถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีการสร้างผลงานทัศนศิลป์เป็นจำนวนมากเพื่อถวายแด่พระศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็มีการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับพระมหากษัตริย์ด้วย โดยเฉพาะการก่อสร้างปราสาทราชวังเพื่อใช้เป็นที่ประทับในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีความงดงามวิจิตร โดยนำเอาช่างแขนงต่างๆ มาร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น


 ด้านจิตรกรรม
                   จิตรกรรมในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่ จะเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา โดยช่วงแรกจะได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบลพบุรี สุโขทัย และลังกาผสมผสานกัน บางภาพจะมีลักษณะแข็งและหนัก ใช้สีดำ ขาว และแดง มีการปิดทองบนภาพบ้างเล็กน้อย เช่น ภาพเขียนบนผนังในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ภาพเขียนบนผนังในตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ เป็นต้น แต่ช่วงหลังจิตรกรรมสมัยอยุธยามักวาดภาพที่เกี่ยวกับไตรภูมิ และมีภาพพุทธประวัติประกอบอยู่ด้วย ซึ่งวิธีการเขียนภาพจะเป็นเช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังสมัยสุโขทัยที่นิยมใช้สีแดงเข้มเป็นพื้น แต่สมัยอยุธยาจะมีการใช้สีเพิ่มมากขึ้น อาทิ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี วัดใหม่ประชุมพล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172–2199) จนสิ้นสุดสมัยอยุธยา จิตรกรรมของอยุธยา แสดงให้เห็นถึงลักษณะของจิตรกรรมไทยแท้อย่างสมบูรณ์ มีการปิดทองบนรูปและลวดลายเนื้อเรื่องที่เขียนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพชุมนุม พุทธประวัติ ไตรภูมิ วิธีการเขียนยังคงใช้สีน้อย ภาพมีลักษณะแบน และตัดเส้นด้วยสีขาว และสีดำ


 ด้านประติมากรรม
                  ผลงานที่มีลักษณะเด่นทางด้านทัศนศิลป์ประเภทประติมากรรมในสมัยอยุธยา ที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างพระพุทธรูป ซึ่งจำแนกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
              1) พระพุทธรูปแบบศิลปะทวารวดีผสมเขมร สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17–18 มีพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ มีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม มีจีวรคล้ายแบบทวารวดี มีพระพักตร์เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมตามแบบเขมรองค์พระพุทธรูปทำด้วยศิลาหรือโลหะ
               2) พระพุทธรูปแบบศิลปะอู่ทอง ศิลปะอู่ทองเป็นศิลปะที่แพร่หลายอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างก่อนการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา ซึ่งจะมีลักษณะบางอย่างผสมผสานกันระหว่างศิลปะทวารวดีกับศิลปะลพบุรี ซึ่งต่อมาศิลปะอู่ทองก็ค่อยผสมกลมกลืนเปลี่ยนไปเป็นศิลปะแบบอยุธยา ตัวอย่างพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง เช่น หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง เศียรพระพุทธรูปสำริด วัดธรรมิกราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปหลายองค์ที่พบในเขตอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และจังหวัดสุพรรณบุรี 

 ด้านสถาปัตยกรรม
                 สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยานอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อศาสนาแล้ว ยังมีการสร้างเป็นตำหนักสำหรับพำนักอาศัยของเชื้อพระวงศ์ และเป็นอาคารเพื่อว่าราชการอีกด้วย ซึ่งสามารถจำแนกลักษณะสถาปัตยกรรมเด่นๆ สมัยอยุธยาได้ ดังนี้


                   1) เจดีย์ หมายรวมถึงสถูปด้วย เจดีย์ในสมัยอยุธยาสามารถจำแนกได้หลายรูปแบบไปตามแนวความคิด คติความเชื่อทางศาสนาในแต่ละช่วงเวลา โดยในช่วงระยะแรก อยุธยานิยมสร้างเจดีย์แบบทรงปรางค์ตามธรรมเนียมนิยมที่เคยมีมาก่อน แต่มีการปรับเปลี่ยนรูปทรงองค์ปรางให้มีความเพรียวได้สัดส่วนมากกว่าศิลปะแบบขอม เช่น ปรางค์วัดพระราม ปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ เป็นต้น 


                    2) อาคาร นอกจากอาคารที่เป็นแบบไทย ซึ่งเคยสร้างกันขึ้นมาแล้ว ยังเป็นสมัยแรกที่มีการนำเอาแบบอย่างการก่อสร้างสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยด้วย โดยสร้างอาคารแบบก่ออิฐถือปูน มีการวางผังการก่อสร้างอย่างเป็นระเบียบจัดบริเวณให้ร่มรื่น มีลานกว้าง มีการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือประปาไว้ใช้ ที่เห็นได้เด่นชัด คือ สถาปัตยกรรมภายในเขตพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
                     3)โบสถ์ วิหาร มณฑป นิยมสร้างให้มีขนาดใหญ่ ยกฐานสูง ผนังด้านข้างทำเป็นช่องแบบลูกมะหวด และแบบหน้าต่าง เสาจะมีการก่อด้วยอิฐเป็นส่วนใหญ่ ทำเป็นเสากลม ปลายเสาตกแต่งด้วยบัวหัวเสาหรือบัวกลุ่มในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย จะทำฐานให้เห็นเป็นแนวแอ่นโค้งรับกับส่วนหลังคาที่ทำซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นและโค้งมักใช้เสากลมก่ออิฐสอปูน ตรงหัวเสาจะทำเป็นบัวตูม มีการตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ในส่วนของซุ้มประตู หน้าบัน หน้าต่าง นิยมแกะสลักไม้ปิดทองประดับกระจก





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น